25 ตุลาคม 2565

ลงทะเบียน K-ETA ทำอย่างไร ? ใครจะเดินทางเข้าเกาหลีต้องรู้ มาดูวิธีสมัครแบบละเอียดกัน

 

อันนยองงงงงง คิดถึงมินและโซลคาเฟ่กันบ้างไหม ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปถึง 2 ปีเต็มๆ ด้วยเพราะอะไรก็รู้กันอยู่เนอะ ^^" ตอนนี้เกาหลีกลับมาเที่ยวได้แล้วตั้งแต่เมษายน 2565 ทำให้หลายคนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวยังแดนกิมจิกันอีกครั้ง หลังจากที่คิดถึงทั้งอาหารเกาหลี ดนตรี ศิลปะ คาเฟ่ และร้านเหล้า! เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังมีแพลนจะเดินทางไปเกาหลีในช่วงนี้ คงได้ยินมาแล้วว่าจะต้องมีการลงทะเบียน K-ETA กันก่อน แล้ว K-ETA คืออะไร? สมัครยังไง? ลงทะเบียนผ่านแล้ว ยังต้องลุ้นตม.หรือไม่? ใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ยังไง มาค่ะ มินจะมาอธิบายให้ฟังทุกขั้นตอนแบบละเอียดยิบเลย


อัปเดท!! ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ผู้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีทุกสัญชาติ ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนแล้วก็สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว 

อัปเดท!!! ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2565 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศเกาหลี ไม่จำเป็นต้องยื่นผลตรวจ Covid-19 ที่มีผลเป็นลบ (RT-PCR หรือ ATK) ก่อนเดินทางเข้าประเทศ 

อัปเดท!!! ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเดินทางถึงประเทศเกาหลี 


สรุปคือ ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป สามารถเดินทางเข้าเกาหลีได้แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องมีประวัติการฉีดวัคซีน ไม่ต้องมีผลตรวจโควิด ไม่ต้องตรวจโควิดเมื่อไปถึง แต่ยังคงต้องลงทะเบียน K-ETA และ Q-code ก่อนเดินทางเข้าประเทศค่ะ


K-ETA คืออะไร? ก่อนจะไปดูการลงทะเบียน มารู้จักคร่าวๆ กันก่อนนะ 

K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) เป็นระบบการอนุมัติการเดินทางทางอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลี สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศเกาหลี แบบไม่ต้องขอวีซ่า และจะต้องทำการสมัครหรือลงทะเบียน KETA และได้รับการอนุมัติเรียบร้อย ถึงจะสามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้ หากสมัครไม่ผ่าน ไม่ได้รับการอนุมัติ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเกาหลีได้นั่นเอง ซึ่งจริงๆ ระบบนี้ก็เพิ่งจะกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงยุคหลังที่โควิดเริ่มซาๆ และหลายๆ ประเทศเริ่มเปิดประเทศให้ท่องเที่ยวได้นั่นเอง โดยทางเกาหลีได้เริ่มนำระบบ K-ETA มาทดลองใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2565 รวมทั้งสิ้น 96 ประเทศ รวมประเทศไทยเราด้วยนั่นเอง

**อัปเดตเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป จะเพิ่มประเทศที่สามารถลงทะเบียน K-ETA ได้อีก 8 ประเทศ รวมปัจจุบันเป็น 112 ประเทศ


ผลอนุมัติ K-ETA ผ่านแล้ว ยังต้องลุ้นตม.เกาหลีไหม?

อ่ะ อันนี้ต้องบอกเลยว่า ผล K-ETA ไม่ใช่ตัวชี้วัดการเข้าประเทศ แค่เหมือนเป็นเอกสารใบเบิกทางที่ทำให้ถูกต้องตามระเบียบการเข้าเมืองเท่านั้น สุดท้ายจะโดนตม.เรียก จะถูกส่งเข้าห้องเย็นมั้ยนั้น ก็อยู่ที่ดุลพินิจของตม.ล้วนๆ เช่นเคย หรือพูดง่ายๆ ภาษามินก็คือ "แล้วแต่ดวง" 


แล้วแบบนี้จะมี K-ETA ไว้ทำไม?

เอาจริงๆ นี่ก็เป็นคำถามที่มินก็สงสัย เพราะ K-ETA แทบจะไม่ได้เป็นตัวคัดกรองคนเข้าเมืองใดๆ เลย แต่ในเมื่อเป็นระเบียบการเข้าเมือง เราเป็นนักท่องเที่ยวก็ต้องทำตาม แม้ว่าจะมีความกังขาสงสัยก็ตามที เอาเป็นว่ากำเงินสามร้อยบาท แล้วไปลงทะเบียนกันค่ะ 5555555


ขั้นตอนการสมัคร และวิธีลงทะเบียน K-ETA

ก่อนจะเข้าเว็บไซต์ไปสมัครกันนั้น สิ่งที่ต้องมีและต้องเตรียมก่อนเลยคือ

1. ที่อยู่ที่เกาหลี โรงแรม เกสเฮ้าส์ บ้านพัก Airbnb ต่างๆ พร้อมเบอร์ที่ติดต่อได้

เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเมื่อมีแพลนจะไปเกาหลีแล้วคือ "จองที่พัก" แนะนำให้จองผ่านเว็บต่างๆ อย่าง agoda, booking.com etc. เพราะจะมีที่พักแบบที่ "จองก่อนจ่ายทีหลัง ยกเลิกได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม" ในกรณีที่กลัวว่าผลอนุมัติจะออกช้า ไม่ทันเดินทาง หรือยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พัก หรือยกเลิกการเดินทางหรือไม่ การจองแบบนี้ช่วยเซฟได้มากค่ะ แต่ถ้าใครมั่นใจ 100% จะจองแบบเสียเงินไปเลยก็ได้ไม่ว่ากัน


2. รูปถ่ายหน้าตรง

ในการลงทะเบียนจะต้องมีการอัปโหลดรูปถ่ายหน้าตรงของเราแนบไปด้วย ซึ่งรูปถ่ายนั้นไม่ต้องไปถ่ายที่ร้านให้ยุ่งยาก หรือเสียเงินเสียทอง เพราะเราสามารถใช้รูปถ่ายปกติธรรมดาได้ เพียงแต่ฉากหลังจะต้องเป็นพื้นขาว ถ่ายแบบหน้าตรง เปิดหน้า (ไม่จำเป็นต้องเปิดหูก็ได้) นึกภาพก็คือ "รูปถ่ายติดบัตร" นั่นเอง ส่วนตัวมินถ่ายที่บ้านเลยค่ะ ใช้กำแพงบ้านสีขาวเป็นฉาก และพยายามทำหน้าตรงให้เหมือนถ่ายบัตร ถ่ายพาสปอร์ตนั่นเอง แนะนำว่าพยายามให้หน้าเราดูคล้ายพาสปอร์ตหน่อยก็จะดีนะคะ เพราะเราต้องอัปโหลดไฟล์พาสปอร์ตแนบไปด้วย ระบบจะได้เห็นว่าใบหน้าตรงกัน **ไม่แนะนำการถ่ายเซลฟี่ ใส่ฟิลเตอร์ฟุ้งๆ นวลๆ

ตัวอย่างภาพถ่ายของมินเอง


3. ข้อมูลพาสปอร์ต

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ต้องมีการอัปโหลดไฟล์รูปหน้าพาสปอร์ตของเราไปด้วย อย่าลืมถ่ายรูปหน้าพาสปอร์ตเตรียมไว้ ให้เห็นรูป เลขพาสปอร์ต และข้อมูลต่างๆ ที่ชัดเจน


4. บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต

เนื่องจากการลงทะเบียนสมัคร K-ETA จะมีค่าธรรมเนียมในการสมัครที่ต้องจ่าย 10,300 วอน (ขึ้นค่าธรรมเนียมจากเดิม 10,000 วอน) และสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิต และเดบิตได้ เตรียมบัตรไว้ใกล้ๆ ตัวให้พร้อมตอนสมัคร


ข้อมูลหลักๆ ที่ต้องเตรียมไว้เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการลงก็จะมีประมาณนี้ค่ะ ส่วน "ตั๋วเครื่องบิน" นั้น ยังไม่จำเป็นจะต้องจองนะคะ ในกรณีที่อยากลงทะเบียนไว้ก่อน ก็ยังไม่ต้องจองตั๋วได้ค่ะ หรือถ้าอยากเซฟก็ลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านก่อน ค่อยไปจองตั๋วแบบมินก็ได้ เกิดลงทะเบียนไม่ผ่าน หรืออนุมัติไม่ทัน จะได้ไม่เสียค่าตั๋วเครื่องบินไปฟรีๆ เพราะถ้าดุ่มๆ วัดดวงไปแบบไม่มีผล K-ETA ก็อาจจะถูกปฏิเสธเข้าเมืองได้เลยทันทีค่ะ นอกจากนี้ ขั้นตอนในการลงทะเบียน K-ETA นั้น จะมีให้เรากรอกวันที่ต้องการเดินทาง จนถึงวันที่กลับ ถ้ายังไม่ได้จองตั๋ว ก็ใส่วันที่ที่เราแพลนไว้แทนได้ค่ะ


วิธีลงทะเบียน K-ETA

หลังจากเตรียมเอกสารและรูปถ่ายเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนในการลงทะเบียน K-ETA กันแล้วค่ะ ก่อนอื่น เข้าไปที่เว็บไซต์ K-ETA >> www.k-eta.go.kr (ระวังอย่าเข้าเว็บอื่นที่ชื่อใกล้เคียงกันนะคะ เพราะมีกรณีว่ามีเว็บหลอกสมัคร ที่คิดค่าธรรมเนียมแพงเกินจริงด้วย ดูให้ดีว่าต้อง .go.kr เท่านั้น หรือคลิกจากบล็อกมินไปเลยก็ได้ ชัวร์สุด!)

หลังจากเข้าไปยังเว็บไซต์แล้ว ก็มาดูวิธีการกรอกข้อมูลกันค่ะ มินจะอธิบายไปทีละหน้า ทีละขั้นตอนเลยนะคะ สามารถคลิกดูที่ภาพเพื่อขยายใหญ่ได้ค่ะ และการลงทะเบียนค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร แนะนำให้ทำเวลาว่างๆ มีเวลา ค่อยๆ พิมพ์ ค่อยๆ กรอก เพื่อความถูกต้องครบถ้วนมากที่สุดค่ะ


1. เมื่อเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ K-ETA แล้ว ให้เลือกที่หมวด Apply for K-ETA ด้านบน




2. เลือกทวีปเป็น ASIA-PACIFIC (หากคุณอาศัยอยู่ประเทศอื่น ก็เลือกตามทวีปที่อยู่เลยค่ะ)



3. จากนั้นเลือก THAILAND



4. ด้านล่างจะเป็นข้อกำหนดและเงื่อนไข ให้ติ๊กเลือก Agree ทั้งหมด แล้วกด Next ไปหน้าถัดไป





5. กรอกหมายเลขพาสปอร์ต และอีเมลเพื่อให้ระบบแจ้งผลอนุมัติมาทางอีเมลนี้ได้ จากนั้นกด Next



6. จากนั้นแนบไฟล์รูปหน้าพาสปอร์ตของเราค่ะ โดยไฟล์จะต้องมีขนาดไม่เกิน 300KB และเป็นไฟล์ JPG เท่านั้น กดที่ Add file เพื่อเพิ่มรูป



7. กรอกข้อมูลพาสสปอร์ตของเราค่ะ ตรงขั้นตอนนี้ให้ใส่อย่างระวัง ดูตัวหนังสือและตัวสะกดให้ถูกต้อง ทั้งชื่อ นามสกุล และรายละเอียดอื่นๆ เพราะ *หากกรอกข้อมูลตรงนี้ผิด และได้รับการอนุมัติแล้ว จะไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ และถ้าข้อมูลไม่ตรงกับพาสปอร์ตจริงในวันเดินทาง อาจถูกปฏิเสธการเข้าเมือง นั่นหมายความว่า อาจต้องเสียเงินค่าสมัครใหม่ ดังนั้น ตรวจทานดีๆ นะคะ




8. มาถึงขั้นตอนต่อไป ให้ติ๊กเลือกตามรายละเอียดในภาพเลยค่ะ และต้องใส่เบอร์โทรศัพท์ของเราที่ไทยด้วย อย่าลืมตัดเลข 0 ข้างหน้าออกด้วยนะคะ เช่น ถ้าเบอร์โทรคือ 081-6677889 ก็ใส่ไปว่า 816677889 ค่ะ ส่วนช่องคำถามที่ว่าเคยมาเกาหลีมาก่อนหรือไม่ และจุดประสงค์ในการเดินทาง ให้กรอกตามจริงของใครของมันเลยนะคะ



9. จากนั้นเลื่อนลงไปด้านล่าง จะเจอว่าให้กรอกที่อยู่ที่พักในเกาหลี ก็กรอกไปตามจริงเลย (ข้อมูลนี้สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง) หากพักหลายที่ ให้เลือกกรอกที่พักที่นานที่สุด วิธีการกรอกคือ ให้กดเลือกที่ Find Postal Code เพื่อค้นหารหัสไปรณีย์


10. ใส่รหัสไปรษณีย์ของที่พักเราลงไป เพื่อค้นหาที่อยู่ (ระบบไม่ให้กรอกเองแบบแมนนวล) หากมีชื่อถนน เช่น Seongmisan-ro ให้ใส่ลงไปด้วย เพื่อค้นหาได้แคบยิ่งขึ้น จากนั้นระบบจะแสดงผลที่อยู่ขึ้นมา ให้กดเลือกที่ตรงกับที่อยู่ของเรา



11. พอกดเลือกที่อยู่เรียบร้อยแล้ว หากมีที่อยู่เพิ่มเติม เช่น ชื่อที่พัก อาคาร หรือเลขห้อง ให้กรอกเองลงไปในช่อง แต่ถ้าไม่มีให้ใส่ว่า NONE ตามด้วยใส่เบอร์โทรศัพท์ของที่พัก และที่ด้านล่าง เลือกอาชีพของเราค่ะ 


12. ตอบคำถามสำคัญ ด้วยการติ๊กที่ No ทั้งหมดด


13. เลื่อนลงไปด้านล่าง จะเจอว่าให้เราอัปโหลดรูปถ่ายหน้าตรงของเรานั่นเอง ดูจากตัวอย่างได้เลยนะคะ (สามรูปล่างสุด) ว่าต้องถ่ายออกมาแบบนี้ถึงจะใช้ได้ ซึ่งรูปถ่ายจะต้องมีขนาดไม่เกิน 100KB และความละเอียดภาพไม่เกิน 700x700 pixels รวมถึงต้องเป็นไฟล์ JPEG เท่านั้นค่ะ หากเตรียมรูปไว้ในเครื่องแล้ว ก็กด Add file เพื่ออัปโหลดภาพได้เลย และกด Next


14. หลังจากนั้นจะแสดง pop-up ขึ้นมาแบบนี้ เพื่อให้เรากดยืนยันข้อมูล


15. มาถึงขั้นตอนในการกรอกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเดินทาง กรอกตามรายละเอียดในภาพได้เลยค่ะ ซึ่งวันเดินทางเข้าและออกจากเกาหลีนั้น ไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ภายหลัง แต่จากที่รู้มา ไม่มีปัญหาในการเดินทางเข้าประเทศหากวันเดินทางจริงไม่ตรงกับในเอกสารที่อนุมัติค่ะ หากเดินทางกับเพื่อน ครอบครัว ให้ติ๊กที่ด้านล่างด้วยว่า Yes


16. หากเราตอบว่ามีผู้เดินทางไปด้วย ก็ต้องมากรอกข้อมูลในส่วนนี้ด้วยค่ะ โดยใส่ชื่อ-นามสกุล ของผู้ที่เดินทางไปกับเรา รวมถึงวันเดือนปีเกิด และความสัมพันธ์กับเรา หากเดินทางด้วยกันมากกว่า 1 คน สามารถกดเพิ่มรายละเอียดได้ และกรอกได้สูงสุด 9 คน และด้านล่างก็ให้ตอบคำถามไปตามจริงนะคะ แล้วก็กด Next เพื่อไปยังหน้าต่อไป



17. จะมี pop-up แสดงขึ้นมา เพื่อให้เรากดยืนยันข้อมูล



18. เมื่อกดยืนยันแล้ว ก็จะมีรายละเอียดข้อมูลที่เรากรอกไปขึ้นมาให้เราตรวจความถูกต้องอีกครั้ง หากมีตรงไหนผิดพลาด หรือต้องการแก้ไข สามารถทำได้ในขั้นตอนนี้เลยนะคะ โดยกดตรงคำว่า Edit เมื่อข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็กด Make Payment เพื่อเข้าสู่หน้าชำระเงินค่าธรรมเนียม



19. กดยืนยันข้อมูลอีกครั้ง




20. เมื่อขึ้นหน้าชำระเงินนี้มา ให้ติ๊กถูกทุกช่อง และกรอกข้อมูลบัตรของเราที่จะใช้ในการชำระค่าธรรมเนียม ตรงหมายเลขบัตร 4 ตัวท้าย และวันหมดอายุ ระบบจะขึ้นแป้นมาให้เรากดแทนการพิมพ์นะคะ และเมื่อกรอกรายละเอียดบัตรแล้ว ที่ด้านล่างให้กดเลือกค่าเงินสกุลบาท ติ๊กถูก และกด Next





21. เมื่อทำการชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว จะขึ้นข้อความมาแบบนี้ค่ะ พร้อมกับหมายเลขการสมัครของเราที่ด้านล่าง และเมื่อผลอนุมัติเรียบร้อยแล้วระบบจะส่งมาแจ้งที่อีเมลที่เรากรอกไว้ตั้งแต่ต้น ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการสมัคร K-ETA แล้วค่ะ




ใช้เวลานานแค่ไหนที่จะรู้ผลอนุมัติ

ทางระบบแจ้งว่าผลอนุมัติจะแจ้งภายใน 72 ชั่วโมง แต่ทุกคนรู้ว่ามันไม่มีจริง 555555 คือก่อนหน้านี้ที่เปิดระบบใหม่ๆ อาจมีการแจ้งผลที่รวดเร็วภายในครึ่งชั่วโมง ไปจนถึง 1-3 วัน แต่ตอนนี้ ที่มินเขียนบล็อกนี้อยู่ เป็นช่วงที่เกาหลียกเลิกการตรวจ PCR แล้ว อาจทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยไปกันมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผลอนุมัติอาจจะช้ากว่าเดิมมากๆ ค่ะ อย่างของมินคือรอ 10 วัน! ในระหว่างที่รออีเมลนั้น เราสามารถเข้ามาเช็กผลเองได้ทางเว็บไซต์ โดยเข้าไปที่หมวด K-ETA Application Results และใส่หมายเลขพาสปอร์ตของเรา ตามด้วยวันเดือนปีเกิด และกด Check Status

หากขึ้นว่า Under assessment หมายถึงว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินผล ก็คือยังไม่อนุมัตินั่นเอง



และหากว่าผลอนุมัติผ่านแล้ว ก็จะขึ้นหน้าจอมาแบบนี้ และให้เราเซฟ และปริ๊นเอกสารพกติดตัวไปด้วยค่ะ ซึ่งจะเห็นในรายละเอียดว่า K-ETA ของเรานั้น จะหมดอายุราวๆ 2 ปี นับจากวันที่อนุมัติ นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ เราสามารถเดินทางเข้า-ออก เกาหลี กี่ครั้งก็ได้ โดยที่ไม่ต้องสมัครใหม่ แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว หากต้องการเดินทางไปยังเกาหลี ต้องทำการลงทะเบียนใหม่อีกครั้งค่ะ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก


สำหรับบางคนอาจได้รับอีเมลแจ้งผลแบบนี้ ส่วนตัวมินไม่ได้ค่ะ แต่เพื่อนที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งก็ไม่มีผลอะไร เพราะเราสามารถเช็กเองทางเว็บและปริ๊นเอกสารได้เช่นกัน




และหลังจากที่ผล K-ETA อนุมัติผ่านแล้ว เราจะต้องไปกรอกข้อมูลสุขภาพ และขอยกเว้นการกักตัว หรือลงทะเบียน Q-code กันด้วยนะคะ ซึ่งตอนนี้ Q-code ไม่ต้องใส่ข้อมูลผลตรวจโควิดแล้ว ระบบจึงให้เรากรอกได้ก่อนเดินทาง 3 วัน เพราะฉะนั้น อย่าลืมมากรอกกันก่อนเดินทางด้วยนะคะ ซึ่งขั้นตอนการกรอก Q-code นั้นก็ไม่ยากค่ะ ไว้มินจะมาอัปเดตแบบละเอียดอีกครั้งในบทความถัดไปค่ะ 




และนี่ก็คือทั้งหมดของขั้นตอนและวิธีในการลงทะเบียน K-ETA นะคะ ซึ่งแม้ว่าทางเกาหลีจะแจ้งว่าให้ลงได้ช้าสุดคือ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แต่มินไม่แนะนำนะคะ เพราะจากที่เห็นๆ กันคือ ผลอนุมัติออกช้ามากในช่วงนี้ ถ้าลงล่วงหน้าได้ก็จะดีกว่าค่ะ สัก 2-3 สัปดาห์ก่อนเดินทางก็น่าจะโอเค แต่อาจไม่ต้องถึงกับล่วงหน้าหลายเดือนหรือเป็นปี เพราะ K-ETA เปิดให้สมัครได้ตลอด และไม่มีกำหนดว่าจะต้องสมัครได้ถึงเมื่อไหร่ ใครที่ยังไม่มีแพลนเดินทาง รอได้แพลนที่แน่นอนก่อนค่อยมาสมัครก็ได้ค่ะ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตทางเกาหลีอาจจะยกเลิกระบบ K-ETA ก็ได้นะ จะได้ไม่เสียเงินฟรี ^^"

สำหรับคนที่ลงทะเบียนครั้งแรกแล้วไม่ผ่าน ตอนแรกทางเกาหลีแจ้งว่าให้ไปขอวีซ่าท่องเที่ยว (ชั่วคราว) ที่สถานทูตเกาหลีในไทยได้เลย แต่ตอนนี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น คือสามารถสมัครใหม่ได้อีก 3 ครั้ง หาก 3 ครั้งไม่ผ่าน ถึงค่อยไปขอวีซ่าที่สถานทูตค่ะ

ใครที่ยังสงสัยหรือไม่เข้าใจในเรื่องของการลงทะเบียน K-ETA สามารถทิ้งคำถามไว้ที่คอมเม้นท์ด้านล่างนะคะ มินจะเข้ามาตอบให้จ้า ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านบทความอันยาวเหยียดมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนะคะ เจอกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่ะ