จริงๆ แล้วมีหลายคนเคยถามมินมาว่าจะใช้บริการตู้ล็อกเกอร์ที่อยู่ตามสถานีรถไฟใต้ดินเกาหลียังไง มินเองก็ไม่มีโอกาสได้ลองใช้สักที ก็เลยไม่ได้มารีวิว แต่บังเอิญที่ไปเกาหลีล่าสุดมา มีโอกาสได้ลองใช้พอดีค่ะ ก็เลยเกิดรีวิวนี้ขึ้นมา โดยมินจะรีวิวให้อ่านกันอย่างละเอียดทุกขึ้นตอนเหมือนเดิมค่ะ
ตู้ล็อกเกอร์ในภาษาเกาหลี เรียกว่า 물품보관함 (มุลพุมโบกวานฮัม) ค่ะ มีอยู่ตามสถานีรถไฟใต้ดิน สถานีใหญ่ๆ หรือสถานีที่คนใช้บริการเยอะๆ (ไม่ได้มีทุกสถานี) สามารถหาได้ไม่ยาก ถ้ามีอยู่ก็จะเห็นได้ชัดเจน เป็นตู้ในลักษณะแบบนี้
ขนาดของล็อกเกอร์ก็จะมี 3 ขนาดตามนี้ค่ะ
- ขนาดเล็ก (소) กว้าง 380mm สูง 270mm ลึก 520mm
- ขนาดกลาง (중) กว้าง 380mm สูง 570mm ลึก 520mm
- ขนาดใหญ่ (대) กว้าง 380mm สูง 870mm ลึก 520mm
ส่วนค่าบริการ จะคิดราคาดังนี้ ตู้ขนาดเล็ก/กลาง/ใหญ่ จะคิดค่าบริการ 4 ชั่วโมงแรก 2000/3000/4000 วอน ตามลำดับ และจะมีชาร์จค่าบริการเพิ่มหากเกินกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป โดยคิดเพิ่มอีก 2000/3000/4000 วอน และคิดเพิ่มทุกๆ 4 ชั่วโมงในราคาเดียวกัน รวมถึงหากเกิน 12 ชั่วโมง ก็จะคิดเพิ่มอีก 2000/3000/4000 วอน ตามลำดับ และหลังจาก 12 ชั่วโมง จะคิดเพิ่มอีกทุกๆ 12 ชั่วโมงค่ะ ไม่งงใช่มั้ย?
ยกตัวอย่าง - สมมติเช่าไปใช้เวลารวม 5 ชั่วโมง นั่นหมายถึงเราต้องจ่ายเพิ่มจากเดิมอีก 2000/3000/4000 วอน ตามแต่ขนาดกระเป๋า หรือหากเช่าไป 10 ชั่วโมง ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 4000/6000/8000 ตามลำดับ และหากเช่าไป 24 ชั่วโมง ก็แปลว่าต้องจ่ายเพิ่ม 8000/12000/16000 วอนนั่นเองค่ะ
แต่ถ้าเราเช่าไปไม่เกิน 4 ชั่วโมงตามกำหนด เราก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม จ่ายเพียงแค่ค่าบริการตอนแรกเท่านั้น
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
คราวนี้มาดูวิธีการใช้บริการกันค่ะ โดยไปที่จอทัชสกรีนของตู้นะคะ แล้วกดเลือกภาษาอังกฤษ เพื่อง่ายต่อการใช้ค่ะ
จากนั้นให้เลือกที่ Keep เพื่อทำการฝากของ
ขั้นตอนที่ 1 : เลือกตู้ล็อกเกอร์ที่เราต้องการ โดยสีน้ำเงินในจอคือตู้ที่ยัง "ว่าง" และเราสามารถใช้ได้ จากในภาพจะเห็นว่า มีแค่เพียงตู้ล็อกเกอร์ขนาดเล็กและขนาดกลางเท่านั้นที่ใช้ได้นะคะ นอกนั้นเต็มหมดแล้ว มินจึงเลือกตู้หมายเลข 215 คือตู้ขนาดกลางค่ะ
ขั้นตอนที่ 2 : ตั้งพาสเวิร์ดของเรา 6 ตัว (ตัวเลข) เลขอะไรก็ได้ที่เราจำง่าย และต้องจำให้ได้ห้ามลืมด้วยนะคะ
ขั้นตอนที่ 3 : ใส่พาสเวิร์ดอีกครั้งเพื่อยืนยัน
ขั้นตอนที่ 4 : จะเห็นว่าค่าบริการคือเริ่มที่ 3000 วอนสำหรับตู้ขนาดกลางนะคะ (ฝากได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) ถ้าเกินต้องจ่ายเพิ่มถึงจะเอาของออกได้ ทีนี้เรามาเลือกวิธีจ่ายเงินกันค่ะ โดยสามารถจ่ายได้ด้วยเงินสด, บัตรทีมันนี่, บัตรเครดิต และจ่ายทางมือถือ (อันนี้สำหรับคนเกาหลี) มินเลือกจ่ายด้วยเงินสดค่ะ
ขั้นตอนที่ 5 : ทำการจ่ายเงินค่ะ หากจ่ายเงินสด ก็ใส่ธนบัตรที่ตู้ได้เลย โดยสามารถจ่ายด้วยธนบัตร 1000, 5000, และ 10000 เท่านั้น รวมถึงไม่สามารถจ่ายด้วยเหรียญได้
ขั้นตอนที่ 6 : กด YES เพื่อรับใบเสร็จ แนะนำว่าให้เอาใบเสร็จด้วยนะคะ เพราะมันจะมีเวลาบอกเราว่าเราเริ่มใช้บริการตอนไหน จะได้ทราบว่าเราใช้เกินเวลาหรือยัง หรือเกินไปเท่าไหร่ (ง่ายกว่าจำ) รวมถึงหากมีปัญหาอื่นๆ เช่น ล็อกเกอร์เปิดไม่ได้หรือมีข้อผิดพลาดใดๆ ใบเสร็จนี่ล่ะค่ะที่จะช่วยยืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ว่าเราใช้บริการจริง เพราะฉะนั้น ใบเสร็จสำคัญค่ะ
หน้าตาใบเสร็จจะเป็นแบบนี้ ตรงสี่เหลี่ยมสีแดงที่มินทำไว้คือเวลาที่เริ่มใช้บริการค่ะ นั่นก็คือ 16:16:37 น.
หลังจากที่เราจ่ายเงินและรับใบเสร็จเรียบร้อย ตู้ล็อกเกอร์หมายเลขที่เราเลือกไว้ จะเด้งเปิดออกมาเองค่ะ ไม่ต้องเดินหาเลย เราก็เอาสัมภาระของเราใส่ไว้ข้างในแบบนี้
จากนั้นก็ปิดตู้ให้เรียบร้อยจนมีเสียงล็อกค่ะ
จากนั้นก็สามารถไปเที่ยวต่อได้แบบสบายตัว ไม่มีสัมภาระเกะกะอีกต่อไป ถึงเวลาก็มาเอาของคืนที่ตู้เดิม ง่ายมากๆ เลย ทีนี้มาดูวิธีเอาของออกจากตู้กันบ้างค่ะ เริ่มจากไปที่จอเหมือนเดิม
ขั้นตอนที่ 1 : เลือกภาษาอังกฤษเหมือนเดิม แล้วเลือก Retrieve เพื่อคืนของ
ขั้นตอนที่ 2 : เลือกที่ล็อกเกอร์ของเรา อย่างของมินก็คือหมายเลข 215 ก็กดไปเลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 : กด YES เพื่อยืนยันในการขอคืนของ
ขั้นตอนที่ 4 : ใส่พาสเวิร์ดของเราที่ตั้งไว้ 6 ตัว จากนั้นตู้ล็อกเกอร์ก็จะเด้งเปิดเหมือนตอนเอามาฝากเลยค่ะ ก็หยิบของออกและปิดตู้ไว้ตามเดิม
และหากว่าเราฝากเกินเวลา ก่อนที่จะได้ของออกมา หน้าจอจะบอกให้เราจ่ายเงินเพิ่มค่ะ โดยสามารถจ่ายด้วยวิธีต่างๆ เหมือนตอนเอามาฝากเลย ใครสะดวกจ่ายแบบไหนก็เลือกแบบนั้น แล้วหลังจากที่จ่ายเงินแล้ว ตู้ถึงจะเด้งเปิดให้เราค่ะ
จบรีวิวการใช้บริการตู้ล็อกเกอร์ในเกาหลีแล้วนะคะ ซึ่งตู้ล็อกเกอร์ที่มินใช้บริการคือที่สถานีรถไฟใต้ดินฮงแดค่ะ เปิดให้บริการ 5:00-24:00 (ส่วนสถานีอื่นๆ มินไม่แน่ใจว่าเวลาเหมือนกันมั้ยนะคะ) ใครที่อยากจะฝากสัมภาระ หรือแม้แต่กระเป๋าเดินทาง ก็ลองมาใช้บริการกันดู ไม่ยากและก็ไม่แพงเลยล่ะค่ะ ^^
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น